ผลกระทบ ของ การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พ.ศ. 2551

ด้านสังคม

การปิดถนนกีดขวางการจราจรบริเวณถนนราชดำเนินนอก เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ของกลุ่มพันธมิตรฯ นั้นส่งผลให้การจราจรติดขัดทุกเส้นทางโดยรอบ[152] และยังได้รับความเดือดร้อนจากการที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้ย้ายมาชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลซึ่งได้ปิดถนนพระราม 5 แยกวัดเบญจมบพิตร ถนนพิษณุโลก ตั้งแต่แยกนางเลิ้งถึงแยกพาณิชยการ ที่เป็นทางสาธารณะและได้ตั้งเวทีปราศรัยบริเวณสะพานชมัยมรุเชษฐ์

อีกทั้งการปราศรัยผ่านเครื่องกระจายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้รบกวนโรงเรียนที่อยู่ใกล้เคียงจนต้องยื่นฟ้องแกนนำพันธมิตรฯ โดยกลุ่มอาจารย์ คณะกรรมการนักเรียน และผู้ปกครองโรงเรียนราชวินิตมัธยม ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ต่อพลตรีจำลอง ศรีเมือง กับพวกรวม 6 คน กรณีได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ปิดถนนพระราม 5 บริเวณแยกเบญจมบพิตร ถนนพิษณุโลก ตั้งแต่แยกนางเลิ้งจนถึงแยกพาณิชยการ โดยนักเรียนได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก จากการทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแก่ เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นการทำละเมิด จึงขอให้ทางกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยย้ายสถานที่ชุมนุม อย่างไรก็ตาม ศาลได้มีการนัดพร้อมคู่ความในวันที่ 18 กันยายน เวลา 13.00 น.[153][154] นายพิภพ ธงไชย แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า จะชดใช้ค่าเสียหายให้กับโรงเรียนราชวินิตมัธยม และจะยอมรับคำตัดสินของศาลแพ่ง[155]

เนื่องจากพันธมิตรชุมนุมแล้วนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศพรก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้ทุกสถานศึกษาต้องหยุดอย่างน้อย 2 วัน ( 2 - 3 กันยายน ) บางโรงเรียนถึง 1 สัปดาห์

ขณะที่ทำเนียบรัฐบาลข้าราชการประจำทำเนียบถูกโจรกรรมทรัพย์สิน เอกสารทางราชการเสียหายและทรัพย์สินภายในทำเนียบรัฐบาลได้รับความเสียหายถูกทำลายและมีสิ่งปฏิกูลในห้องทำงานของข้าราชการบางคนอีกด้วย[156]

ด้านเศรษฐกิจ

เมื่อการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 ภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยก็เริ่มได้รับผลกระทบ โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทยร่วงลงมามากกว่า 2 เปอร์เซ็นต์[157] ซึ่งการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ นั้น รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจการเงินการคลัง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า มีผลต่อบรรยากาศการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้ง กระทบต่อบรรยากาศการใช้จ่ายของภาคประชาชนด้วย โดยเฉพาะการลงทุนจากต่างประเทศ เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสามารถสะท้อนถึงสถานการณ์การเมืองและความมั่นคงของประเทศ โดยสิ่งที่น่าเป็นห่วงหากเหตุการณ์ยังยืดเยื้อต่อไป คือ ด้านการท่องเที่ยว เพราะในไตรมาสที่ 4 เป็นช่วงฤดูท่องเที่ยว เศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพารายได้จากส่วนนี้ค่อนข้างมาก โดยรายได้ส่วนนี้คิดเป็นร้อยละ 8 ของจีดีพี หากสถานการณ์การชุมนุมยังยืดเยื้อ ก็อาจมีผลทำให้นักท่องเที่ยวชะลอการเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศ [158]

นอกจากนี้ นายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและรักษาการณ์กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตั้งแต่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิต้องปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคม ทำให้ต้องสูญเสียรายได้ไปกว่า 350 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมความเสียหายของผู้ประกอบการการขนส่งสินค้าทางอากาศที่ไม่สามารถส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศได้อีกประมาณกว่า 25,000 ล้านบาทและยังไม่รวมความเสียหายของสายการบินต่าง ๆ อีกจำนวนหนึ่ง[2]

ส่วนปฏิกิริยาของตลาดหุ้นไทยนั้น พบว่า ดัชนีหุ้นปรับตัวลดลง -56.7% ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ หรือลดลงมากกว่าตลาดสหรัฐประมาณ 20% ซึ่งมีเหตุผลหลายประการตั้งแต่การขายสุทธิของกองทุนต่างชาติ จนถึงการถูกบังคับขายโดยโบรกเกอร์เพื่อรักษามูลค่าหลักประกันของลูกค้าไว้จะได้ไม่ต้องเรียกหลักประกันเพิ่ม และอีกเหตุผลหนึ่ง คือ ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ[159]

สำหรับระดับความน่าเชื่อถือของประเทศนั้น นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ซึ่งจะทำให้ต่างชาติขาดความเชื่อมั่นที่จะเข้ามาลงทุน ซึ่งทางกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานต่างๆ ของรัฐที่อยู่ในต่างประเทศ ต้องเร่งชี้แจงให้นักลงทุนและชาวต่างชาติเข้าใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะสื่อทั่วโลกได้มีการนำเสนอเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง จึงอยากให้ทางกลุ่มผู้ชุมนุมและตำรวจอย่าใช้ความรุนแรงในการชุมนุม เพื่อไม่ให้เหตุการณ์บานปลายมากกว่านี้[160]

อย่างไรก็ตาม ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาการชุมนุมประท้วงของกลุ่มพันธมิตรฯ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจระยะสั้น โดยเฉพาะเรื่องความเชื่อมั่นของนักลงทุนและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค แต่หากการชุมนุมยิ่งยืดเยื้อก็อาจจะยิ่งส่งผลกระทบมากขึ้น[161]

ในขณะที่ Standard & Poor’s (S&P) และ Fitch ได้ประกาศปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของไทยลงจากปัญหาทางการเมืองในประเทศที่ยังคงยืดเยื้อ โดยเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2551 S&P ได้ประกาศทบทวนแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยลงสู่ 'เชิงลบ' จากเดิม 'มีเสถียรภาพ' อย่างไรก็ตาม S&P ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือสำหรับตราสารหนี้สกุลเงินต่างประเทศ และสำหรับตราสารหนี้สกุลเงินในประเทศไว้ที่ระดับเดิม คือ 'BBB+/A-2' และ 'A/A-1' ตามลำดับ โดย S&P มองว่า การยึดครองสนามบินนานาชาติทั้ง 2 แห่งโดยกลุ่มพันธมิตรฯ เพิ่มความเสี่ยงต่ออันดับความน่าเชื่อถือและเศรษฐกิจของประเทศไทย[162]

แหล่งที่มา

WikiPedia: การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พ.ศ. 2551 http://special.bangkokbiznews.com/detail.php?id=23... http://www.bangkokbiznews.com/2008/06/20/news_2688... http://www.bangkokbiznews.com/2008/12/02/news_3168... http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics... http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/495111 http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/773876 http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/802974 http://www.bangkokpost.com/News/07Jun2008_news05.p... http://www.bangkokpost.com/breaking_news/breakingn... http://www.bangkokpost.com/topstories/topstories.p...